กด "Like" เพื่อรับข่าวสารความรู้ ดีดีจากเรา iLoveCoffeeTHAILAND

คาเฟอีน (caffeine) มีผลดีและผลเสียต่อร่างกาย อย่างไรบ้าง


คาเฟอีน (caffeine) มีผลดีและผลเสียต่อร่างกาย อย่างไรบ้าง

          คาเฟอีน (caffeine) เป็นสารประกอบที่พบในเมล็ดกาแฟ เมล็ดโกโก้ ใบชา เป็นต้น กาเฟอีนบริสุทธิ์นั้น มีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็ม ไม่มีกลิ่น และมีรสขม ปริมาณกาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน กาแฟที่ชงจากเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าจะมีปริมาณกาเฟอีนสูงกว่าเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกา นอกจากนี้ กรรมวิธีในการชงและปริมาณผงกาแฟที่เติม ก็มีผลต่อปริมาณกาเฟอีนที่แตกต่างกัน

ปริมาณของคาเฟอีนที่มีผลต่อร่างกายและอารมณ์
1) กาเฟอีนขนาดต่ำ (50-200 มก.) จะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า สดชื่น ไม่ง่วงนอน
2) กาเฟอีนขนาดปานกลาง (200-500 มก.) อาจทำให้ปวดศีรษะ เครียด กระวนกระวาย มือสั่น นอนไม่หลับ
3) กาเฟอีนขนาดสูง (1,000 มก.) จะเริ่มทำให้เกิดกาเฟอีนเป็นพิษ (caffeinism) ซึ่งจะมีอาการกระสับกระส่ายอยู่นิ่งไม่ได้ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปัสสาวะบ่อย

ผลดีและผลเสียของกาเฟอีนต่อร่างกาย
1. หากดื่มกาแฟในปริมาณที่พอเหมาะ 
จะเกิดผลดีต่อร่างกายดังนี้

1.1 กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว ลดอาการง่วงนอน 
     เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานต่อเนื่อง เช่น ทำงานรอบดึก ควบคุมเครื่องจักรกล รวมถึงผู้ขับขี่รถยนต์ระยะทางไกลๆ โดยกลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นของกาเฟอีนนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากกาเฟอีนไปยับยั้งการทำงานของสารอะดีโนซีน (adenosine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามการหลั่งของสารสื่อประสาทในร่างกาย เมื่อสารอะดีโนซีนไม่สามารถทำงานได้ ทำให้เซลล์ประสาทมีความไวมากกว่าปกติ มีการหลั่งของสารสื่อประสาท เช่น ซีโรโทนิน (serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) เพิ่มขึ้น ระบบประสาทส่วนกลางถูกกระตุ้นมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายตื่นตัว ลดอาการง่วงนอน

1.2 ช่วยลดอาการเมื่อยล้าจากการออกกำลังกาย 
กลไกนี้มาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า กาเฟอีนจะไปกระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาทเคทีโคลามีน (cetecholamine) ซึ่งจะไปกระตุ้นการสลายไขมันในเนื้อเยื่อให้เป็นพลังงาน ดังนั้นคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในรูปไกลโคเจน (glycogen) จึงยังคงเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่สะสมในกล้ามเนื้อ ร่างกายจึงทนทานต่อกิจกรรมที่ใช้แรงมากได้นานขึ้น


2 หากดื่มกาแฟปริมาณมากเกินไป 
จะเกิดผลเสียต่อร่างกายดังนี้

2.1 หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
เต้นไม่เป็นจังหวะ เนื่องจากกาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง อัตราการบีบตัวของหัวใจและปริมาณเลือดที่สูบฉีดต่อนาทีจะเพิ่มขึ้น

2.2 นอนไม่หลับ 
หากร่างกายได้รับกาเฟอีนสูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อวัน จะทำให้นอนหลับยาก หลับไม่สนิท และช่วงเวลาที่หลับนั้นสั้นลง

2.3 เร่งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร 
กาเฟอีนมีฤทธิ์ไปกระตุ้นการหลั่งกรดเพปซิน (pepsin) และแกสตริน (gastrin) อาจทำให้โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้รุนแรงขึ้นได้

2.4 ปัสสาวะบ่อยๆ 
กาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ โดยจะไปลดการดูดกลับของโซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียมจากหน่วยไต แร่ธาตุเหล่านี้จะถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ 
จึงมีข้อสันนิษฐานว่า หากมีการสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายบ่อยๆ ในปริมาณมาก อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้

2.5 ปวดศีรษะ 
ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ หากหยุดดื่มกะทันหันจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร่างกายอ่อนเพลีย และง่วงนอน
* * * * * *
บทความดีดีจาก : หมอชาวบ้าน

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม