กด "Like" เพื่อรับข่าวสารความรู้ ดีดีจากเรา iLoveCoffeeTHAILAND

"ตั้งครรภ์" ก็ดื่มกาแฟได้! วิจัยแล้ว...ไม่ทำให้ลูกไอคิวต่ำ


"ตั้งครรภ์" ก็ดื่มกาแฟได้! วิจัยแล้ว...ไม่ทำให้ลูกไอคิวต่ำ


          ทีมนักวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า สตรีซึ่งกำลังตั้งครรภ์สามารถดื่มกาแฟได้ 1-2 ถ้วยต่อวัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อไอคิวหรือพฤติกรรมของลูกๆ เมื่ออายุ 4-7 ขวบ

          ซาราห์ คีม รองศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์และระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เขียนรายงานผลการวิจัยดังกล่าว ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าเด็กๆ ที่เกิดจากผู้เป็นแม่ซึ่งดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ไม่ได้มีระดับไอคิวต่ำ หรือมีปัญหาเชิงพฤติกรรมมากกว่าเด็กๆ ที่เกิดจากมารดาซึ่งไม่ได้ดื่มกาแฟระหว่างตั้งครรภ์แต่อย่างใด สามารถสรุปได้ว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคกาเฟอีนระหว่างตั้งครรภ์กับ ภาวะการเรียนรู้จดจำหรือพฤติกรรมของเด็กๆ ในครรภ์เมื่อโตขึ้นแต่อย่างใด

          ทีมวิจัยใช้การวิเคราะห์ปริมาณของสารประกอบ "พาราแซนทีน" หนึ่งในสารประกอบที่เกิดขึ้นจากการสันดาปกาเฟอีนในร่างกาย โดยการตรวจหาระดับของพาราแซนทีนในตัวอย่างเลือดของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษา รวม 2,197 คน ทั้งหมดเป็นสตรีกำลังตั้งครรภ์ การตรวจดังกล่าวแยกเป็น 2 ครั้งในทุกๆ คน จากนั้นนำเอาระดับพาราแซนทีนที่ตรวจสอบได้ไปเทียบเคียงกับระดับไอคิวและ พฤติกรรมของลูกๆ ของกลุ่มตัวอย่าง ขณะที่เด็กๆ เหล่านั้นอายุ 4 ขวบ และ 7 ขวบ

          ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้นั้นเป็นตัวอย่างที่เก็บ รวบรวมระหว่างปี 1959 กับปี 1974 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การดื่มกาแฟของสตรีมีครรภ์พบเห็นกันบ่อยมากกว่าใน ปัจจุบันนี้มาก

          ผลการวิจัยใหม่นี้สอดคล้องกับการศึกษาหลายชิ้นก่อน หน้านี้ อาทิ งานวิจัยเมื่อปี 2012 ซึ่งผู้วิจัยพบว่าการดื่มกาแฟของผู้เป็นมารดาระหว่างตั้งครรภ์ไม่เกี่ยวข้อง กับการตื่นในช่วงกลางคืนของทารก นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับงานวิจัยของวิทยาลัยสูติแพทย์อเมริกัน ซึ่งพบว่าการบริโภคกาเฟอีนในระดับปานกลาง 1-2 ถ้วย หรือน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวันนั้น ถือว่าปลอดภัยขณะตั้งครรภ์

          แต่ยังไม่ชัดเจนว่าการดื่มกาเฟอีนในปริมาณสูงมากๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่

* * * * *
ที่มา : นสพ.มติชน

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม